ประวัติหลวงปู่สอ พันธุโล1

พระธรรมเทศนาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2546
[15 มิถุนายน 2552 18:33 น.]จำนวนผู้เข้าชม 8482 คน

พระธรรมเทศนา ของหลวงปู่สอ พันธุโล
วันที่ 18 พฤษภาคม 2546

พระพุทธเจ้าท่านว่าสติปัญญาเป็นของสำคัญ ถ้าคนขาดสติคนไม่สมบูรณ์ เขาเรียกว่าคนบอ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงให้ฝึกสติ เดินสติปัฎฐาน เดินอยู่อย่างนั้นในตัวของเราอันนี้ ร่างกายของเราเกิดขึ้นมาจากอะไร คือสติปัญญาของเรามันจะรู้ ถ้าเราไม่มีสติไม่รู้เรื่องอาการของเรา มันคิดนั่น คิดนี่ คิดขึ้นไปเพื่ออะไร เพราะฉะนั้นให้เรามีสติสัมปชัญญะ ให้รู้ตัวของเราเอง คือความแก่ ความชราความล้ำค่าอะไรมันอยู่นี้หมด เราจะดีก็สติของเราจะชี้ช่องทาง เพราะสิ่งเหล่านี้ มีสติปัญญาเท่านั้นจะบังคับได้ ถ้าไม่มีสติปัญญา บังคับมันไม่ได้ ตัวกิเลสตัวนี้มันประคับประคองเรามาสักกี่ภพกี่ชาตินานมาแล้ว บัดนี้มักก็มาหลอกลวงเราอยู่อย่างนั้น บัดนี้เกิดขึ้นมาอีก มาตายอีก มาหาอยู่หากินเหมือนเก่าอีกอยู่อย่างนั้นแหละ ตัวนี้ถ้าไม่มีสติปัญญาถอนตัวของเราออกจากตัวนี้แล้วมันติดอยู่ มันข้องอยู่นี้ คาอยู่ที่นี่ คาอยู่กับอะไร ความรัก ความชอบนี่ ตัวนี้มันเป็นตัวกามท่านเรียกว่า กามตัณหา คือความรัก เรารักกายของเราถ้ามันเจ็บมาเราก็ไม่อยากให้มันเจ็บเราหวงไว้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านให้มีสติไม่ให้หวง มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราไม่ใช่ตัวของเรา ไปหวงเอาไว้ทำไม ถ้าเป็นของเราและตัวของเราทำไมให้มันแก่ ให้มันเจ็บ ทำไมให้มันตาย ทำไมไม่เอามันไว้ได้ ตัวนี้มันไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาของสติปัญญา

เพราะฉะนั้นเมื่อสติปัญญาของเรารู้เท่าทันมันแล้ว สติปัญญาตัวนี้มันปล่อยออกเราก็เห็นช่องทาง คือจิตของเราใจของเรามันลงหรือสงบไปนิดเดียวเท่านั้นแหละ มันจะไปถึงพื้นฐานที่สว่างของใจ บัดนี้ ใจของเราก็รู้ขึ้น ๆ อันนี้มันไปถึงแต่ของปลอม ๆ มากั้นเราไว้ไม่ให้ลงถึงฐานคือจิตใจอันที่แท้จริง และเมื่อจิตใจแน่ที่แท้จริงมันลงถึงฐาน มันก็สว่างจ้า ตัวของเราไม่เคยประคับประคองมา เราจะสะดุ้งพอสะดุ้งมันก็หายไป บัดนี้ตัวนี้มันจะเกิดขึ้นแบบนี้มาอีก ก็เกิดสบาย ในตัวของเรา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงว่าถ้าจิตเราลงหรือสงบครั้งนึ่งเท่านั้น ถึงแม้ว่าเราจะสร้างกองการกุศลร้อยครั้งพันครั้ง ไม่เท่าจิตเราลงเพียงครั้งเดียวเท่านั้น มันสบายมากไม่มีอะไรไปเกี่ยวข้องกับจิตใจ ๆ ของเราสบายโรคภัยไข้เจ็บไม่มี บัดนี้จิตของเราลงถึงฐานของใจอันแท้จริง

บัดนี้ให้เราภาวนาดูอยู่ในตัวของเรานี้เราจะรู้เรื่องอาการของเรา ว่าติดอยู่ที่ตรงไหนเราก็พยายามแก้ที่ตรงนั้น เมื่อเราแก้ไขตรงนั้นแล้ว จิตของเรามันเดินไปเอง สติปัญญาตัวนี้จะชี้ช่องทาง บัดนี้เราก็จะมองเห็น เราทำดีมากี่ภพกี่ชาติ เราจะเห็นผลของการกระทำของเรามา มันแตกต่าง ไม่ใช่ว่าตาเนื้อของเรานี้มันหลอกลวง อันตัวจิตที่แท้จริงมันไม่หลอกมันรู้ บัดนี้เราจะไปเกิดภพหน้าชาติหน้าที่เราพึงปรารถนายังไม่ถึงจุดหมายปลายทางของเรา แล้วมันจะไปเกิดที่ไหนมันจะบอก บัดนี้เราเห็นที่ที่เราจะไป บัดนี้ทรัพย์สมบัติที่เราคุ้มครองมา บัดนี้เราจะเห็นอยู่ข้างหน้าอีก เราทำบุญทำทานมามากน้อยมากสักกี่ภพกี่ชาติก็ตาม มันก็เป็นของเราไม่สูญหาย เหมือนกับเราเอาเงินไปฝากธนาคารไว้คนอื่นจะไปเอาไม่ได้ อันนี้เป็นของแท้จริง ๆ บัดนี้คุณงามความดีที่ได้สร้างมา เราก็จะรู้แจ้งเห็นหมดจิตใจของเรามันขยัน มันไม่กล้าทำชั่วพยายามสร้างความดีใส่ตัวของเรา

เพราะฉะนั้นเราอย่าไปดูที่อื่น ดูที่ตัวของเรา ขัดข้องที่ตรงไหนต้องแก้ความขัดข้องที่นั่น เมื่อเราแก้มันแล้วมันก็จะไปของมันเอง เราไม่ได้บังคับมีแต่สติปัญญาจะมองถามอยู่เราจะเห็นดีเห็นชั่วของตัวเรา พอเราชั่วมา เราได้ทำอย่างนั้น ๆ จิตของเรามันรู้มันจะหยุดในการทำชั่ว คิดนิดเดียวก็เป็นความชั่ว มันเป็นตัวกรรมตัวเวรบัดนี้กายของเราก็ดี ถ้าเราไปทำผิดนิดเดียวก็เป็นเวรเป็นกรรม ใจของเราคิดผิดขึ้นมาก็เป็นเวร วาจาของเราที่พูดออกไปไม่ถูกตามหลักธรรมคือความคิดความชอบนั่นก็ผิด มีแต่กรรมแต่เวรทั้งนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงให้มีสติคุ้มครองรักษาตัว คิดก็ดี วาจาก็ดี กายของเราก็ดี ให้เรามีสติคุ้มครองรักษา เมื่อเราจะทำการอย่างนั้น ๆ ก็ต้องคิดเสียก่อนจะทำดี หรือไม่ควรทำ ถ้าควรทำเราจึง ส่งสติ ส่งปัญญาของเราตามดูนึกให้มีสติ ท่านว่าการฝึกสติเป็นสิ่งสำคัญมาก หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ท่านมีแต่ฝึกสติ

เมื่อสติของเราดีแล้ว สติของเรามันแก่กล้าขึ้น ปัญญามันก็รวดเร็ว กิเลศมันจะมาหลอกลวงเรามันก็จะรู้ มันก็บังคับไว้ มันไม่เอา มันตัดออก ๆ ความรักก็ดี ความชอบก็ดี ดีใจเสียใจ มันเป็นเรื่องของกิเลสมันก็ตัดออกหมด ไม่มีอยู่ในตัวของเรา บัดนี้มีแต่ธรรมคือความดีเข้าสู่ใจของเรา เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบเทียบใจเหมือนกับน้ำ ใจของท่านมาเทียบกับตัวนี้ ใจของท่านความดีมันเต็มอยู่แล้ว มันเต็มเหมือนกับตัวนี้แล้ว จะเอาอะไรมาเติมมันอีก มันเต็มแล้วมันพอแล้ว ความดีของเรามันเต็มอยู่แล้วจะเอาความดีหรือความชั่วมาเพิ่มอีกก็ไม่ได้ มีแต่เหลือออก ๆ เพราะฉะนั้นมันเหลือออกอย่างไรความคิดขึ้นมาซักกี่ภพกี่ชาติไม่มีได้อะไร มันเต็มหัวใจของเราแล้ว มันอิ่มแล้ว มันพอแล้ว ความตายของเราตายมาสักกี่ภพกี่ชาติ มันอิ่มแล้ว มันพอแล้วมันไม่เอา

บัดนี้มันจะมามองดูตัวของเรา ดูความตาย บัดนี้มันไม่มีความรักกับตัวนี้ ไม่มีความชอบกับตัวนี้ มันอยู่เฉย ๆ บัดนี้มันอิ่ม มันพอแล้ว เกิดมาตายเล่นเฉย ๆ มันไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรว่าตัวของเราจะดีตัวของเราจะเป็นอยู่อย่างนั้นแหละ นี่มันเป็นเรื่องของกิเลศ บัดนี้จิตของเราไม่ได้คิดขึ้นอย่างนั้น ถ้าเราเข้าถึงจิตถึงใจของเราแล้ว มันพอหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ใจของเราก็สบาย ถึงแม้มันไม่ได้กินมันก็อิ่ม มันก็พอแล้ว มันพอแล้ว กินไปเพื่อประโยชน์อะไร คือความอยากความกินมันเป็นตัณหา เมื่อมันรู้แล้วมันตัดออก เอาออกหมดมันไม่เอาทุกสิ่งทุกอย่าง ตัดออกหมด ถึงแม้เราจะเอานั่นเอานี่มามันก็ไม่เอา มันอิ่มแล้วมันพอแล้ว มันเต็มอยู่ในนี้หมด บัดนี้ทรัพย์สมบัติมันเต็มอยู่นี่หมด มันพอแล้ว อันนี้มันหมดความอยาก หมดความดีใจ หมดความเสียใจ เหลือเพียงแต่ของดี ท่านจึงเปรียบเทียบฐานะที่ใจของเรานี้ ถ้าเอาน้ำไปตั้งไว้ไปใส่ไว้ มีแต่ความชุ่มชื้น ยิ้มแย้มแจ่มใสเย็นจิ้วอยู่อย่างนั้น บัดนี้ถ้าเอาความโลภ ความโกรธ ไปตั้งไว้มีแต่ความอยาก มันแตก- ต่างกันอย่างนั้นแหละ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้อบรมจิตของเราให้มีสติ ให้มีปัญญาคุ้มครองใจของเรา

ใจของเราเป็นบ่อทรัพย์ บ่อสมบัติทุกสิ่งทุกอย่าง บัดนี้เราเกิดมาเราก็ดี เพราะความดีของเราได้สร้างไว้เพียงพอแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่าง บัดนี้มันจะออกมาแสดง กิริยาของเราสวย วาจาของเราก็ไพเราะ บัดนี้จิตใจดูข้างในความโลภก็ไม่มี ความโกรธก็ไม่มี มีแต่ความดีเข้าถึงใจอยู่อย่างนั้น ท่านจึงว่า เมื่อใครตกในขั้นนี้แล้ว ท่านว่าถึงธรรมขั้นนี้แล้ว ถ้าใครเห็นธรรมคนนั้นเห็นพระตถาคต พระตถาคตท่านอยู่อย่างนั้นแหละ บัดนี้ เมื่อจิตของเรา ใจของเรา ไปถึงท่านแล้วเราสบาย เราเกิดมาหาความสุขใส่ตัวของเรา อันนี้เป็นสุขอยู่อย่างนั้นเรียกว่า บรมสุข ฉะนั้นจะไปหาสิ่งอื่นไม่มีท่านว่าถึงแม้เราจะจะมีทรัพย์สมบัติกองเท่าภูเขาเลากาก็ไม่มีความสุขอะไรแก่ใจ อันนั้นมันเป็นเรื่องความสุขของกาย ของจิตใจ เพื่อแสวงหาความสุขใส่ตัวเท่านั้น ไม่มีอะไร ความสุขตัวนี้ เย็นจิ้วเลย ไม่มีร้อน ถึงไม่มีพัดลม ไม่มีแอร์ มันก็เย็นอยู่อย่างนั้น ถึงแม้ว่าเขาจะด่าว่ากล่าวเราอย่างนั้น อย่างนี้ ไม่มีโกรธ ไม่หงุดหงิด อย่างนั้นแหละ ดังนั้นท่านว่ามีสติมีปัญญาคุ้มครองใจของเราแล้ว อันนี้หาความสิ้นสุดทุกสิ่งทุกอย่างครอบงำไม่ให้ความชั่วเข้าไปทำลายจิตใจ ไม่ให้เกิดความเศร้าหมองไปทำลายจิตใจ ใจของเราสว่าง เหมือนเราเปิดไฟ แต่เราต้องทำให้ได้ และก็แน่นอนมีอยู่ทุกคน ๆ นั่นแหละ

บัดนี้ถามตัวของเราว่าเราเกิดมาหาอะไร เราอย่าเป็นคนท้อแท้อ่อนแอต้องเป็นผู้เฉลียวฉลาดรอบคอบทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งภายนอกและภายใน ภายในเมื่อใจของเรามันจะคิดอะไรจะได้รู้ หากภายนอกมันจะมาอย่างนั้นอย่างนี้ ให้เรารู้ นี่สติปัญญาของเรามันจะตรวจ คล้าย ๆ กับว่าเรามีผู้รักษาตัวของเรา บัดนี้เมื่อเรารู้แล้ว ท่านจึงว่าจิตอันนั้นแหละตัวพุทธะรักษา ธัมมะรักษา สังฆะรักษา ท่านว่าอยู่ที่ไหนไปที่ไหน ไม่กลัวใด ๆ ใจมันกล้า มันมีสิ่งรักษาเราอยู่ เพราะฉะนั้นท่านครูบา – อาจารย์ ท่านจึง เข้าดงเข้าป่า ไม่กลัวช้างกลัวเสือ ไม่กลัวผีสางใด ๆ เลย ไม่มีกลัว มีสิ่งรักษาเราอยู่ แต่ขอให้เราทำจริง ๆ ถ้าเราทำไม่จริงไม่มีใครรักษา เสือกินตายหมด อันนี้ครูบาอาจารย์เข้าดงเข้าป่า ถึงแม้มันจะมาหาครูบาอาจารย์อยู่ ตามประวัติของท่านแล้วมันไม่ได้มาทำร้ายท่าน มันรู้ว่าเรามาทำดี เขาก็เป็นผู้รักษาความดีเหมือนกันกับเรา เขาจึงเรียกว่าสัตว์คำว่า สัจ คือ สัจจะ เป็นของจริง บัดนี้ เขาก็มีศีล มีสัจเหมือนกันกับเราเพราะฉะนั้นพวกสัตว์มันอยู่ตามบริเวณวัดนี้ เขารู้จัก ตัวอย่างพวกเราใส่เครื่องขาว ใส่ผ้าสีเหลือง ๆ เขาไม่กลัวเรานะ กระต่ายเหมือนกัน มันมาเล่นอยู่กับเราอยู่ ถ้ามันเห็นญาติโยมมันก็จะกลัว มันวิ่งเข้าป่าเลย มันต่างกันอย่างนี้แหละ สังเกตพวกสัตว์เขาก็รู้ว่าพวกนี้ไม่ใช่พวกจะมาทำร้ายกัน เขาไม่กลัวนะสังเกตดูตัวขาว ๆ อาตมาเอาอาหารให้มันกินมันยิ้มกับอาตมา อันนี้ถ้าญาติโยมให้มัน มันไม่อยู่หรอกมันเข้าป่าไปเลยล่ะ อันนี้ศรัทธาญาติโยม

พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้ ถ้าไม่มีสติก็ไม่รู้ธรรม เพราะธรรมมันอยู่ที่ลึกลับ ที่เราไม่รู้ถึงจิตของเรานั้น เพราะมีอวิชชาอยู่ เราไม่รู้ ตัวนี้แหละมันพาจิตของเราไม่เก็บเรื่องนั้น ไปเก็บเรื่องนี้มาปรุงแต่งขึ้น เพราะฉะนั้นท่านจึงให้มีสติ ฝึกหัดสติให้มันรู้เท่าทันกลมายาของจิต คือจิตอวิชชา ถ้าตาของเราไม่เพียงพอ มันก็ไม่รู้เขา อันนี้ตาเราเห็นก็ว่าเราเห็นอยู่ แต่ที่มันไปเก็บเอาเรื่องนี้ เข้ามาไว้นี้มันมาปรุงแต่งขึ้น เรื่องอาการของจิตตัวนี้มันไม่อยู่เฉย ๆ อันนี้มันจะเป็นเหมือนอย่างกับว่า คนเรามันไปเก็บนั่นเก็บนี่ เอานั้นเอานี้มาปรุงมาแต่ง คือตัวนี้มันเป็นตัววัดได้มันหมุนไม่ให้เราโลภ ไม่ให้เราหลง เรานั่งให้จิตของเราสงบ ให้จิตของเราถึงฐานของใจจริง ๆ บัดนี้ถ้าใจของเรามันสว่างขึ้น เราจึงจะเห็นเราจึงจะรู้ตัวนี้ ถ้าหากจิตของเราลงไม่ถึงพื้นฐานของใจ อันนี้มันไม่เห็น มันอยู่ลึกตัวนี้ เวลามันออกมานั้นเราก็ไม่รู้ เมื่อเวลามันเข้าไปเราก็ไม่รู้ มันละเอียดมาก เผลอแผลบเดียวเท่านั้นมันออกไปแล้ว เมื่อเวลามันไปเก็บเอานั่นเก็บเอานี่เข้ามา เราไม่ได้ตรวจดู บัดนี้มันเอาเขามา มาปรุงแต่งความปรุงแต่งมันเป็นความหลอก หลอกลวงพวกเราให้หลงไป เมื่อเรายิ่งลุ่มหลงไปนั้นแหละตัวอวิชชา คือความหลงตัวนั้นแหละ มันเป็นยาพิษเข้าเสกสรรปั้นยอจิตของเราไม่ให้เรารู้ จิตของเราไม่รู้ พอไปยึดตัวนั้น เกิดความชอบ เกิดความอยาก บัดนี้เรามาติดอยู่อย่างนี้ เราไม่รู้เรื่องอาการของจิต

เพราะฉะนั้นท่านจึงให้เจริญภาวนา เจริญสติปัฎฐาน ให้มาก เมื่อเวลามันเกิดขึ้นมาเราก็จะรู้เท่าตามทัน พอเกิดความรัก ความชอบ เราก็ให้มีสติบังคับใจข้างใจ เราอย่างไปบังคับข้างนอก ตัวนี้แหละเป็นตัวการ มันอยู่ในตัวของเรานี้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านว่า ให้มีสติ ให้มีปัญญา ให้มีศรัทธา ให้มีความเพียร พระพุทธเจ้าท่านเดินอยู่ในธรรมบทนี้ ศรัทธาของเราไม่ใช่ว่าจะไม่มี ให้ฝังลงในใจของเราจริง ๆ ให้เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ให้มีศรัทธา ท่านสอนอย่างไรเราต้องทำอย่างนั้น เมื่อเรารู้แล้วเราก็ปล่อยออกไป ปล่อยออกไป จิตของเรา ใจของเรา มันก็ค่อย ๆ ก้าวลงไป ก้าวลงไป ถึงพื้นฐานของใจจริง ๆ พื้นฐานของใจมันสว่างอยู่อย่างนั้นอันนี้มัน คล้าย ๆ กับว่าพระอาทิตย์มีเมฆไปปกปิดกำบังเรา เราก็มองหาพระอาทิตย์ไม่เห็น เมื่อเมฆขยายออกจากพระอาทิตย์พระจันทร์แล้ว เราก็จะมองเห็นพระอาทิตย์ นี้ก็เหมือนกัน เมื่ออวิชชาตัวนี้มันครอบคลุมอยู่เมื่อมันขยายออกไปจากดวงใจของเราแล้ว ใจของเราก็จะพุ่งแสงสว่างขึ้นมา แล้วก็มองเห็นดีเห็นชั่วในสิ่งนั้น หากเขาจะปรุงแต่งให้เรารู้ เขาจะทำให้เรารู้ เขาจะสอนเรา

พระพุทธเจ้าท่านจึงว่าใจนี้เราเอาอยู่ ถ้าเราปฏิบัติถูกทางใจของเรา จะเป็นของประเสริฐ ให้เกิดขึ้นมาให้มีความภูมิใจ ไม่มีอะไรจะเสมอเหมือนดวงใจนี้ ศรัทธาของเราตัวนี้ให้เชื่อจริง ๆ ให้มันเกิดขึ้น การกระทำของเรา กิริยามารยาทมันจะค่อย ๆ อ่อนตัวลงให้เราสังเกตดู เอาสติของเราตามดู ปัญญาของเราก็ตามกันไปด้วย ท่านจึงว่าสติของเราเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วสติปัญญา ตัวนี้ไม่มีอะไรเสมอเหมือน มันเกิดเป็นมหาสติ ปัญญาตัวนี้เป็นมหาปัญญา อันนี้แหลมคมรู้แจ้งแทงตลอดจริง ๆ ไม่มีอะไรเหมือน บัดนี้ตัวของเราก็ไม่ได้หลง ไม่ได้หลงตามความเสกสรรปั้นยอของกิเลสต่อไป สติตัวนี้พอมันคิดอะไรขึ้นมาทางที่ดีมันก็รู้ มันก็ปล่อยให้คิดไป ถ้ามันคิดขึ้นมาในทางที่ชั่ว คิดในทางที่ไม่ดีตัวนี้แหละมันจะบังคับ สติตัวนั้น มันจะบังคับลง บัดนี้ปัญญามันจะสอดรู้ คือความรู้ความเห็นของปัญญานั้น ปัญญามันจะสอดเข้าไป มันจะรู้ว่าตัวนี้มันผิด มันจะบอก ไม่ควรคิดขึ้นมาไม่มีประโยชน์ เพราะตัวนี้มันเป็นเรื่องของอวิชชา จิตใจของเราเขารู้จัก จิตของเราจะระงับออกไป และปัดเป่าออกไป กวาดออกไป เพราะฉะนั้นท่านจึงให้มีสติ ให้มีปัญญา ให้มีศรัทธา คือความเชื่อมั่น กวาดออกไป กวาดออกไป เหมือนเรากวาดบ้านเรา ถ้าเรากวาดและทำความสะอาดอยู่ประจำ บ้านเราก็จะสะอาดไม่มีฝุ่น อันนี้ก็เหมือนกันที่ปกปิดกำบังอยู่เดี๋ยวนี้ มันเยอะ เพราะฉะนั้นท่านจึงว่าจิตของเรามันเป็นอวิชชา มาตั้งกี่ภพกี่ชาติมา เราไม่รู้ว่าเราเป็นอวิชชา เราหลงไปตามเขา ตัวสมมติมันปรุงแต่งขึ้นมา มันรู้จักจิตนิสัยของเราชอบอย่างนั้น ชอบอย่างนี้มันก็ปรุงแต่ง เหมือนกันกับเสื้อผ้าที่เราใส่อยู่นี่แหละ เราชอบอย่างนั้นมันก็ปรุงแต่งขึ้นมา เราก็ว่าดี ว่าชอบ ว่าสวย อยู่อย่างนั้นแหละ หลงไปตามความเสกสรร ปั้นยอของสมมติแล้วอันนี้คือสมมติตัวนี้ บัดนี้เราก็ไปติดแล้ว พอเราหลงติดยึดสิ่งนี่มาเป็นเราเป็นของเรา ยึดเข้ามา ๆ ใจของเราก็ว่าเป็นของเราแท้ที่จริงมันไม่ใช่

เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า อนิจจังตัวนี้ บัดนี้ตัวของเราก็ไม่รู้ ถึงแม้หูเราได้ยินตาก็ได้เห็น มันก็ไม่ปล่อย มันก็ว่าเป็นตัวของเราอยู่ มันฝึกลึกมาตั้งกี่ภพกี่ชาติแล้ว บัดนี้มีมันถอดยาก เพราะฉะนั้นท่านจึงให้เดินสติ เดินปัญญาให้รู้เท่าถึงกัน อย่าให้มันหลอกลวงเราทั้งหมดถ้าหากเราไม่รู้ ทั้งหมดนี้ ท่านบอกว่าเป็นตัวอนิจจัง หูเราได้ยินเราก็อย่าไปเชื่อ ตาเห็นก็อย่าไปเชื่อ จมูก ลิ้น กายใจของเราก็อย่าไปเชื่อ ปล่อยให้ออกให้หมด เฉย ๆ ดูปล่อยให้มันสู้กันอยู่สู้กันดู จิตของเราก็จะสงบดี ถ้าเราปล่อยให้มันเย็นมันจะรวบรวมเอาทั้งหมดนี้ทิ้งไปเลย อย่าไปยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา มันไม่ใช่ ให้เชื่อพระพุทธเจ้า นี้ศรัทธา ตัวนี้แหละสำคัญอีก แต่เราไม่เชื่อ แต่เราได้ยินพระพุทธเจ้าเทศน์ให้ฟังอยู่ แต่ว่ามันไม่ปล่อย เพราะจิตของเรามันยังไม่ลงถึงฐานของใจ มันไม่ไปเห็นต้นเหตุ ที่มันเกิดขึ้น มันแสดงขึ้น เมื่อมันไปเห็นต้นเหตุ มันแสดงขึ้นมันเกิดขึ้นแล้วมันก็จะปล่อยไปหมด เพราะทั้งโลกนี้เป็นตัวอนิจจังทั้งหมด สิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เกิดมาแล้วต้องมาแก่มาเจ็บมาตายเหมือนกันหมดตลอดทั้งสัตว์ตลอดต้นไม้ เมื่อจิตของเรามันรู้ไป รู้ไปแล้วมันไม่ยึดว่าบ้านนี้เป็นของเรา เสื้อผ้าที่เราเอามาใส่ไม่ใช่ของเรา เป็นสิ่งที่อาศัยกันชั่วคราว ตัวนี้ก็เหมือนกันถ้ามันคิดเรื่องไม่ดีขึ้นมาเราอย่าไปตาม ให้มีสติ คิดตามถ้ามันคิดในทางที่ดีในทางที่ชอบ เราจึงตามมันดู

เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ระมัดระวัง ให้มีสติ ดีกับชั่วมันคู่กัน ถ้ามันคิดดีขึ้นมาเราอย่าเพิ่งไปเชื่อแต่ให้เรารู้ว่าดี เฉย ๆ แต่เราอย่าไปเชื่อมัน มันกลับชั่วขึ้นมา ครั้งแรกให้ดูทางหน้าบัดนี้มันจะกลับข้างหลังมาให้ดู เราจะไปหลงมันอยู่ ดีกับชั่วมันอยู่ด้วยกัน คือความรักกับความเกลียดเมื่อมันหยุด ความรัก ความเกลียดความแค้นมันจะเพิ่มขึ้นมา มันแทรกกันอยู่ตัวนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ชำนิชำนาญในการปล่อย ก็ปล่อยหมดเราอย่าไปเชื่อข้างนอกก็ตามข้างในก็ตาม ข้างนอกคือตาเห็น หูได้ยิน จมูกเราได้สูดกลิ่น ลิ้มรส ได้ลิ้มรสอยู่ข้างนอก ข้างในคือใจมันคิดมันปรุงมันแต่ง เราอย่าไปเชื่อปล่อยทิ้งไปหมด ถ้าเรายังปลดยังปล่อยไม่เป็น ต้องปล่อยให้มีประโยชน์ ตัวนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ถ้าเป็นของเราทำไมให้มันแก่ ทำไมให้มันเจ็บ มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา นั่นมันแสดงถึงเรื่องนี้

เพราะฉะนั้นขนาดเขาแสดงให้เรารู้เราเห็นอยู่ มันยังไปยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา แค่เราจามฟิดเดียวเท่านั้นแหละวิ่งไปหาหมอเลย มันเป็นอยู่อย่างนี้แหละ เรื่องอาการของจิตเรื่องอาการของความหลงตัวอวิชชาตัวนี้ มันเก่ง มันทับถมเราหมด ไม่ให้เราก้าวไปไหนเลย เพราะฉะนั้นเราจึงปล่อย เราปล่อยไปให้หมดเราอย่าไปเอาอย่ายึดว่าอันนี้เป็นเรา อันนี้เป็นของเรา อันนี้เป็นลูกเรา อันนี้เป็นสามีเรา อันนี้เป็นภรรยาเรา อย่าไปเกี่ยวข้องมันเฉย ๆ อยู่อย่างนั้น ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้นเราจึงฝึกจิตของเราฝึกสติของเราให้มันรู้ บัดนี้เมื่อ ธรรมมันเกิดขึ้นเมื่อมันสว่างมันไปสว่างในจิตของเรา ใจของเรามันค่อย ๆ รู้เองมันค่อย ๆ ปล่อยวางเอง มันไม่ไปยึดว่าเป็นเราเป็นของเราทั้งหมด เหมือนกับพวกแหละเราไปยึดสถานที่ว่า นี่สวนเรา นี่นาเรา นี่ที่ดินเรา แต่มันหาใช่ของเรา ไม่มีใครเอาไปได้ มันเป็นของธรรมประจำโลกประจำธรรม มาแต่ไหนแต่ไรมา แต่ตัวไปยึดนี่คืออุปทานของจิต อุปทานของใจ บัดนี้เราปล่อยออกไปให้หมด ตัวอุปทาน ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา เรารู้แล้วให้ปล่อยวางให้หมด ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีแน่นอน ร่างกายของเราที่เราครองอยู่ เมื่อลมหายใจข้างในมันไม่ออก ข้างนอกมันไม่เข้า เขาก็เรียกว่าเราตาย เขาก็นำไปเผาทิ้ง มันเป็นอยู่อย่างนี้แหละ นี่แหละท่านเรียกว่าตัวคลุกขมงมงายมายึดของเก่าเข้าใจว่าเป็นเราเป็นของเรา เราเกิดมาเราก็เอาของเก่านี้แหละคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จะมาเอาความโลภ ความโกรธ ความหลง ความสมมติ มันมีแต่ของเก่าอยู่นี่ทำมาหาอยากหากิน พอแก่ชราก็ตาย เกิดมาอีกก็มาเอาของเก่าอีกอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่มีสิ้นสุด

เพราะฉะนั้นให้มีสติ ให้มีปัญญา ตัวนี้แหละตัวจะตัดสินใจ ให้เรา ว่าเราจะเกิดอีกไหม พระพุทธเจ้าท่านจึงถามจิตของท่านว่าเบื่อแล้ว เบื่อความเกิด พอแล้วทุกสิ่งทุกอย่างเกิดมาเป็นกี่ภพกี่ชาติ เกิดตายมานี้มีแต่ได้รับความทุกข์ ความเวทนาอยู่ตลอดเวลา ไม่เอาอีกแล้ว พระพุทธเจ้าท่านจึงอิ่มแล้ว พอแล้ว เหมือนตักน้ำใส่ขวดใส่แก้วมันเต็มแก้ว เต็มใจของพระพุทธเจ้า เต็มทุกสิ่งทุกอย่าง มันไม่มีการบกพร่อง ท่านจึงว่า หากจะไปหาเอาดีเอาชั่วเพิ่มเติมให้อีก มันพอแล้วเต็มแล้ว ไม่เอาแล้วท่านว่าอันนี้เขาสมมติเฉย ๆ เราไปหลงยึด มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา บัดนี้ให้เราเข้าใจจริง ๆ ใจของเราถ้าเราอบรมให้ดีใจของเราจะกลายเป็นของประเสริฐ จะพาตัวของเราออกจากหลุมลึกที่กองทุกข์ตัวนี้ได้ ไม่มีสิ่งอื่นจะเอาตัวของเราออกจากตัวนี้ได้ เราอย่าไปเชื่อหากคนนั้นว่าอันนั้นดี คนนี้ว่าอันนี้ดี อย่าไปเชื่อ แต่หูเราฟังเฉย ๆ เขาชอบเขาก็ว่าดี ถ้าเราอยากพูดกับเขาเราก็มีปาก ทำไมเราจะพูดไม่เป็น ถ้าพูดดี พูดชั่ว พูดชอบ เพราะฉะนั้นให้จิตของเรามันรู้จริง ๆ เมื่อรู้แล้วมันไม่ยึด แล้วสังเกตว่า ตัวของเราไม่ยึดไม่ถือว่าอันนี้มันเป็นอย่างนี้ จิตของเราก็ค่อย มีกำลังเรื่องนั้นมามันก็ปล่อยเรื่องนี้มันก็ปล่อยใจของเรามันก็เบาไปเพราะมันไม่มีเรื่องไม่มีงาน ใจของเรามันเบา หากไปยึดเอานั่น ไปยึดเอานี่ ไปให้ใจคิดไปให้ใจผูก ใจของเรามันรำคาญเป็นอยู่อย่างนั้น ทำอยู่อย่างนั้นไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีอะไรจะร่ำจะรวย เหมือนเราเป็นอยู่ทุกวันนี้แหละ ไม่ร่ำไม่รวยหาอยากหากินใช้ไปก็หมดไป หาใช้ไปใช้ไปหมดไปเป็นอยู่อย่างนั้นแหละ ข้างในมีก็เหมือนกันกับข้างนอก

เพราะฉะนั้นเมื่อเราเห็นข้างนอกแล้วรู้เท่าถึงใจตนแล้ว ให้น้อมใจเข้าไปสู่ข้างใน ให้ใจข้างในมันรู้มันปล่อย ถ้าข้างนอกได้แล้วมันก็สบายเบา อยู่อย่างนั้นแหละไม่ยึดไม่ถือ ถึงแม้เรามีอยู่เราก็จะเก็บไว้ใช้ เมื่อเราจากไปคนที่เขายังอยู่เขาก็จะใช้ต่อไป อยู่อย่างนั้นแหละ เอาไปไม่ได้เพราะมันเป็นของประจำโลก สิ่งเหล่านี้ท่านเรียกว่าตัวโลภ เอาไปไม่ได้เหมือนกัน ไม่ว่าที่ดินบ้าน ที่สวน ที่ไร่ ที่นา อะไรก็ตาม เอาไปไม่ได้ แต่เราเกิดมาเขาก็ให้เราอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้นแหละ เมื่อตายไปแล้วไม่ใช่เรา ไม่ใช่เป็นของเรา คนที่เขายังอยู่ก็ประคองรักษา อยู่ไป เมื่อเขาตายไปเขาก็เอาไปไม่ได้ อยู่อย่างนี้แหละมาแต่ไหนแต่ไรมา อันนี้ท่านเรียกว่าโลกสมมติ โลกอนิจจัง มีแต่ของไม่แน่นอน ทั้งนั้น บัดนี้เราต้องการเอาอะไร

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงให้ถามตัวของเราว่าเราจะเอาของจริง หรือของปลอม ตัวนี้มันเป็นของปลอม มันเป็นของหลอกลวง ถ้าเราเอาของจริงเราก็ปฏิบัติจริงเข้าไป จิตใจของเราก็จะรู้จริงเห็นจริง สติของเราทุกด้านทั้งภายนอกและภายใน ถ้ามีสติปัญญาแล้ว เราก็ออกมาจากกองทุกข์ตัวนี้ได้ ออกจากของสมมติตัวนี้ได้ของยึดมั่นถือมั่นตัวนี้ได้ เพราะมันมัดเราทุกคนตลอด เกิดขึ้นมามันก็มัดไม่ให้ไปที่ไหน พอเกิดขึ้นมาก็เอาความอยากตามมา ถ้าไม่ได้อย่างสมใจก็ร้องไห้ เสียใจ มันจะเป็นอยู่อย่างนี้แหละ นี่แหละให้เราเข้าใจมันอย่าไปเอามันอย่าไปยึดอย่าไปถืออย่าว่าเป็นเราเป็นของเรา ปล่อยออกไป ๆ ถ้าเราไม่ช่วยเหลือเราใครจะมาช่วยเหลือ ให้เราตั้งใจตัวนี้ มีศรัทธา เป็นสัจธรรม คนอื่นจะมาช่วยทำไม่ได้หรอก ให้เราสังเกต เรากินข้าวหากคนนั้นคนนี้จะกินข้าวแทนเรา ให้เราอิ่ม มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่อิ่ม สามี ก็ตาม ภรรยาก็ตาม ลูกก็ตาม หลายก็ตามไม่มีใครช่วยท่านได้

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงว่า “อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ” ตนและเป็นที่พึ่งของตน อย่าไปอาศัยจมูกคนอื่นหายใจ เมื่อให้เราเข้าใจ ฝังใจอย่าไปอ่อนแอ มิฉะนั้นเราจะสู้มันไม่ได้ มันจะผูกมัดเราหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เราจะไปโน่นไปนี่มันผูกไปหมดและไปไหนไม่ได้ ตัวนี้แหละมันทำลายเราทุก ๆ คน มันทำลายเรา ให้เราลุ่มหลงในกิเลสตัวนี้แหละ ท่านจึงเรียกว่าข้าศึก ท่านเตรียมตัวท่านดีแล้วหรือยัง เพราะมันมีแต่หาเรื่องใส่ อยู่อย่างนั้น ตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี ใจก็ดี มันหาเรื่องใส่เราให้เราติดนั่นคิดนี่แล้วก็ไปยึดเอามา ถ้าได้ยินเสียงไพเราะเสนาะหูก็เกิดความชอบขึ้น มันจึงเอาเข้ามาทำลายเราอยู่ จิตของเรามันก็ไม่สงบ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย มีแต่เรื่อง

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงให้มีสติให้มีปัญญาตรวจตราดูมัน ให้มันรู้อย่าไปถือเรื่องนี้ให้ปล่อย เรื่องของโลก เพราะฉะนั้นเราจึงไม่รู้ ยกตัวอย่าง เช่น เราเป็นหนี้เขาเราไม่ส่งเขา บัดนี้มันจะทำให้เราคิดทำให้จิตใจของเราไม่สบายอันนี่ท่านว่าโลก คำว่าโลกเจือปนติด้วย ดี และ ชั่ว ให้เราเข้าใจมันอยู่ในตัวของเรานี่แหละ พิจารณาดูตัวของเราให้มันรู้ ให้มันปล่อยออก เราอย่าไปยึด ถึงเราไปพบไปเจอในตัวของเราก็ปล่อยออกให้หมด ดีเราอย่าเอา ชั่วเราก็อย่าเอา เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งคู่กันของโลก ความรัก ความชอบมันเป็นคู่กันอยู่ ความเกิด กับ ความตาย มันเป็นคู่กันอยู่ อย่าไปเอา มันเป็นของ ๆ โลก ถ้ารู้แล้วให้ปล่อยวาง ให้รู้เฉย ๆ เหมือนกับผู้หญิงผู้ชายมันเป็นคู่กันเฉย ๆ เมื่อรู้แล้วเราก็ปล่อย อย่าไปยึดว่าเป็นสามีเรา ภรรยาเรา อย่าไปคิดอย่างนั้นอย่าไปหลงอย่างนั้น ท่านว่า ความดีความชั่วก็เหมือนกันเป็นของคู่กันอยู่ มันเป็นเรื่องของโลก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงให้ปล่อยออกให้หมด พวกเรามาติดอยู่ที่นี่แหละ มาติดมาข้องอยู่ที่นี่เลยไม่รู้จักปลดจักปล่อย ไม่รู้จักปล่อยวางพาออกจากตัวของเรา เรามาติดดี ติดชั่ว ติดเกิด ติดตาย อยู่อย่างนั้นแหละ เราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย พระพุทธเจ้าท่านจึงให้รู้หมด รู้แล้วอย่าไปยึดเอาอย่ามาคิด

ท่านจึงให้มีสติบังคับตัวนี้แหละเอาไว้ อย่ามาคิดอย่ามาปรุงอย่ามาตกมาแต่งว่าดีว่าไม่ดี อันนี้เรามาติดดีติดชั่ว หลงดีหลงชั่วมันเป็นของประจำโลกมันเป็นภาษาของสมมติ ของอวิชชาสมมติ ถ้าเราชอบแล้วก็ว่าดี ถ้าไม่ชอบแล้วก็เกลียดก็ว่าชั่ว ถ้าจิตของเรา ใจของเรามันพลิกแพลงอยู่เหมือนกับปากกาต้องการตัวหนังสือ อันไหนมันชอบมันก็เขียนลงว่าชอบว่าดี ปากกามันมีน้ำหมึก น้ำหมึกอันนั้นท่านเรียกว่าน้ำสมมติ ตัว (ก.) ก็ออกมาจากตรงนั้น ตัว (ข.) ก็ออกมาจากตรงนั้นตลอดตัวสุดท้ายก็ออกมาจากตรงนั้น ปากกาด้ามนี้ก็ด้ามเดียวกัน แต่ว่ามันมาเปลี่ยนแปลงรูปนามมัน มันให้ชื่อไม่ตรงกันตัวนั้นว่าอย่างนั้น ตัวนี้ว่าอย่างนี้ เหมือนกันกับว่า ผู้หญิง ผู้ชาย ธาตุขันธ์อันเดียวกันเพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงปล่อยออกได้ ไม่ว่าคนนั้นเป็นผู้หญิง ไม่ว่าคนนี้เป็นผู้ชาย ท่านมาตรวจดูสภาพร่างกายแล้วมันก็คือธาตุขันธ์อันเดียวกัน อนิจจัง ของไม่เที่ยงอันเดียวกัน ผู้ชายก็มีเหมือนกัน ธาตุนี้ เป็นธาตุที่หลอกลวง ธาตุไม่แน่นอนท่านจึงตัดออก ไม่เอา บัดนี้ท่านจึงไปหาความจริง แต่อยู่ในนี้ทั้งหมด

บัดนี้เมื่อใจของเราไม่คิดขึ้นมาใจของเราอยู่เฉย ๆ ท่านเรียกว่าความสงบของใจอันนั้นมันเป็นอย่างหนึ่ง เมื่อความสงบมันเกิดขึ้นในใจนั้น มันคิดว่าดี ว่าชั่ว ว่ารัก ว่าเกลียด มันเฉย ๆ อยู่ ดีมันก็ไม่เอา ชั่วมันก็ไม่เอา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนจิตของท่านให้รู้ ให้เราคิดรักษาตัวของเราสร้างตัวของเรา ถอนตัวของเราออกจากสิ่งที่ผูกมัดเรา คือความรักตัวนั้น อันนั้นมันไม่อยู่ที่ไหนมันอยู่ในใจ ให้เราตัดออก อย่าไปเชื่อมัน เพราะสภาพตอนนี้เป็นสภาพของ อนิจจัง อย่าเอาไปถือว่า เป็นเราเป็นของเราให้รู้เมื่อรู้แล้วให้ปล่อยตามเอาไว้เฉย ๆ ความเฉย ๆ นี่ท่านเรียกว่าอุเบกขา ไม่เอาดีไม่เอาชั่ว ไม่เอารัก ไม่เอาชอบ ไม่ยินดีไม่ยินร้ายกับอะไร ให้เฉยๆ อยู่ตาเราเห็นก็เหมือนกัน หูเมื่อได้ยินก็เหมือนกันให้เฉย ๆ อันนี้บังคับมันไว้ให้หมด อย่าให้มีเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคิดถ้ามันคิดขึ้นมามันเผาเรา ถ้าไปตกที่เราไม่รู้เราลุ่มหลงไป บัดนี้มันก็คิดขึ้นกว้างออกไป ๆ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านให้เราน้อมเข้ามา น้อมเข้ามา ให้มันเห็นอยู่ในใจของเรานี้ทั้งหมด ทั้งภายนอกและภายในเมื่อจิตของเรามันรู้เท่าถึงกันมองไปที่ไหนก็เหมือนกันหมด มองไปที่ป่าก็เหมือนกันกับว่า สัตว์โลกอยู่ในบ้านนี่แหละเขาก็มี เกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน ถ้าเขาไม่มีปากมีเสียงเราต้องสังเกต น้อมมาสอนเรา สิ่งที่ไม่ดีก็เยอะ สิ่งที่ดีก็เยอะ เหมือนกับคนอยู่ในบ้านคนดีก็มีคนชั่วก็มี เหมือนกันหมด

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า โลกสังขารธรรมเป็นของไม่เที่ยงทั้งหมด เราจะหาสิ่งไหนเที่ยงยิ่งกว่าสิ่งเหล่านี้ ตัวนั้นแหละเราจะเดินเข้าสู่ทางพลิกจิตของเราเดิน เหมือนเรามีภาวนา แต่คนไม่มีทาน ไม่มีศีล ไม่มีภาวนา ต่างกัน อย่างไร มันเป็นอย่างนั้น บัดนี้เราจึงน้อมจิตของเรานี้ให้อยู่ สงบจะเห็นอยู่ในนี้หมด เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ฝึกหัดสติเราให้รู้ อย่าให้มันไปข้องติดอยู่กับสิ่งใด ๆ เหล่านี้จิตของเรารู้ มันเป็นธรรมดา เป็นอนิจจัง มันเป็นของไม่เที่ยง มันไม่ใช่ของเรา สิ่งนี้เรามาหลงยึดหลงถือนี่ มารักมาชอบอยู่นี่ มาหลงดีหลงชั่วอยู่ ถ้ามันคิดขึ้นมาเราก็ว่าเราคิด แต่จริง ๆ ธาตุขันธ์ของเขาหมุนเขาทำงาน กิเลสมันมัดมันครอบครองอยู่ มันส่งส่ายของมัน ตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง มันทำงานอยู่ในใจของเรานี่ มันอาศัยใจเรานี้แหละ บัดนี้มันบังคับใจของเราไม่ให้บอกข่าวแก่พวกเรา บัดนี้ใจมันไม่มีที่อาศัยของพวกกิเลส ตัณหา พวกนี้ เข้าไปครอบงำหรือปกครอง มันจะดีดดิ้นไม่ได้ เขาว่าดีก็ดีไปตามเขา เขาว่าชั่วก็ชั่วไปตามเขา แต่มันไม่สามารถกล้าจะบอกเพราะอวิชชาตัวนั้นมันบังคับไว้ บัดนี้ จิตของเรามันไม่มีใครช่วยเหลือ

พระพุทธเจ้าท่านว่า จิตของเราถ้าเรามีการช่วยเหลือจิตของเรา จิตของเราจะเป็นจิตที่ประเสริฐขึ้นมา สติปัญญา ของเรามันก็ไม่มี บัดนี้มันก็ปล่อยให้แต่ความชั่วเข้ามาทับอยู่อย่างนั้น ก็ทำให้เรามองหาเราไม่เห็น เพราะฉะนั้นพระพุทธท่านเจ้าจึงว่า ให้ออกให้หมด ดีก็อย่าเอา ชั่วก็อย่าเอา บุญก็อย่าเอา บาปก็อย่าเอา ให้เฉย ๆ อยู่ เอาไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะแต่ก่อนพระพุทธเจ้าก็เคยติดอยู่เหมือนเรานี้แหละ ท่านปีนล้มปีนตายมาห้าร้อยชาติ ท่านมาติดอยู่ที่นี่แหละ แต่ก่อน มาติดอยู่จิตชั่วนี้ มาเกิดเป็นนั่นเกิดเป็นนี่อยู่อย่างนั้น ท่านได้ทุ่มเท พลังกำลังของท่าน ตายก็ตาย เป็นอะไรก็เป็น สู้อยู่กับกิเลส ไม่ให้กิเลศกิน ไม่ให้เรากิน 49 วัน ท่านรอดตาย มดเจาะลูกตาเข้าไปอยู่ในเบ้าตาของพระพุทธเจ้า ท่านควักออกมาดูได้ข้างละเท่ากะลามะพร้าว อันนี้ท่านก็ไม่ว่าอะไร อันนี้ท่านปล่อย ท่านไม่ได้ห่วงท่านรอดตาย ท่านว่าไม่มีอะไรจะหมดห่วงเท่าถอดจิตออกจากกองทุกข์

เพราะฉะนั้นท่านจึงว่าจะสร้างตึกรามบ้านช่องไปถึงดาวดึงส์ก็มีแต่จะไปร้องไห้ โอดอวนครวญครางอยู่อย่างนั้นแหละ อันนี้เราไม่เหมือนดาวดึงส์ เพราะดาวดึงส์มองไปที่ไหน ๆ ก็ระยิบระยับไปหมด ไม่โอดอวนถึงความอยากความกิน ในเมื่อวันอิ่มแล้ว มันต่างกัน เพราะฉะนั้นท่านจึงว่าไปสร้างตึกรามบ้านช่อง แข่งขันดาวดึงส์ พวกเรามีแต่จะไปร้องครวญครางอยู่อย่างนั้นแหละ ดาวดึงส์เขาพอแล้วอิ่มแล้ว ตัวของเขานึกถึงอย่างนั้นอย่างนี้เขานึกขึ้นมาได้เต็มไปหมด อันนี้แหละเราต้องทำให้มันได้ ทำให้มันเห็น มันอยู่ในตัวของเรานี้แหละเราจะเห็น เราอย่าไปสงสัยว่าที่อื่น เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์ท่านก็เห็นอยู่ในตัวท่านนั่นแหละ ท่านนำมาพร่ำสอนพวกเราพวกเราอย่าไปสงสัย เหมือนกันกับว่าเปรียบเทียบภายนอก เหมือนกันกับว่าต้นพริก มะเขือ ผลพวงก็อยู่ที่ต้นของมันนั้นแหละมันไม่ได้ขอมาจากต้นอื่น บัดนี้เขาได้แสดงให้เห็นว่าโลกได้รับความสุขความต้องการอยู่กับเขาอยู่ เขาแสดงความบริสุทธิ์ให้โลกได้เห็นอยู่ทำไมเราถึงไม่เชื่อ อันนี้ไม่เห็นว่ามันจะต้องไปขอมาจากต้นนั้นต้นนี้ เหมือนกล้วย มะละกอ มันก็เป็นผลของมันอย่างนั้น ถ้าลำต้นมันสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นให้เราเข้าใจอย่างนั้น เราจะไปหาว่าธรรมมีอยู่ที่นั้นที่นี่ไม่ใช่ มันอยู่กับตัวของเราเอง พระพุทธเจ้าท่านจึงว่า ทำดีได้ดี ไม่ได้ชั่ว เราต้องการชั่วก็ไม่ชั่ว เพราะการกระทำของเรามันไม่ชั่ว เพราะการกระทำของเราเป็นต้นเหตุ ผลของมันจะให้เป็นอื่นมันไม่เป็น เป็นของดีทั้งนั้น เราทำดีแล้วไม่ต้องสงสัยว่าจะเป็นอื่นต้องได้ดีแน่นอน

บัดนี้เราจะเชื่อไหมตัวศรัทธาตัวนี้ หากเราเชื่ออย่างนั้น ศรัทธาอย่างนั้น ถ้าเราเชื่อ ศรัทธาค่อย ๆ จะเกิดขึ้น ถ้าเราไม่เชื่อศรัทธานั้นก็จะไม่เกิด ท่านจึงว่า ศรัทธา แปลว่าความเชื่อ ความเลื่อมใส บัดนี้ความเลื่อมใสตัวนั้น มันจะสบายขึ้นมาเราจะมองเห็นทางเดินของเรา ทั้งดีและชั่ว และนี่จิตของเราใจของเราก็นึกแต่จะทำทางที่ดีเพราะมันเห็นมันเกิดขึ้น ท่านจึงว่าดีใดไม่เห็นว่ามีโทษ ดีนั้นแหละชื่อว่าดีเลิศ ได้สมบัติใดทั้งปวงไม่ประเสริฐเท่าได้ตน นั้นเราเอาตัวของเราได้แล้ว เพราะตัวเราเป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์สมบัติทั้งปวง ท่านว่าบัดนี้ ผลของมันก็จะเกิดขึ้น ๆ จากตัวของเรานี้แหละ เราไม่ได้ไปหาที่อื่น เหมือนกันกับว่าแผ่นดินนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างทรัพย์สมบัติในแผ่นดินนี้ ให้โลกได้พึ่งพาอาศัยอยู่ เราเกิดมาก็อาศัยแผ่นดินนี้แหละ อยู่ทุกวัน บัดนี้เมื่อเราอาศัยแล้ว หมดกำลังแล้ว คือความตายของเรามาถึงแล้วเราก็ส่งไป ไปส่งเขาไปเป็นดินเหมือนเก่าเอาไปไหนไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นธรรม เป็นเครื่องค้ำจุนโลกอยู่ พวกเราที่เกิดมาหาอยากหากินแล้วก็ตายเป็นดินเหมือนเก่า ท่านเรียกว่า วัฎจักรความหมุนของโลก มันหมุนอยู่อย่างนั้น เราเกิดมาหาอยากหากิน มาเฒ่ามาตาย มาหลงของเขาท่านจึงว่า หลงของเขาว่าเป็นของใหม่อยู่เรื่อยๆ ที่จริงแล้วมันไม่ใช่ พระพุทธเจ้าก็หลงมาเหมือนกับพวกเรา มาสักกี่ภพกี่ชาติท่านรอดเป็นรอดตาย ท่านจึงรู้

คือจิตของเรายังมีผู้ช่วยเหลือ มันจึงหลงไป เพราะอวิชชามันบังคับมัน มันหานั่นหานี่มาให้เรา มาให้จิตของเรา เหมือนกับคนกินเหล้าอันนี้ก็เมาไป เมามาบัดนี้ ไม่มีหนทางจะออกจากตัวนี้ได้ เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็เหมือนกันเกิดมาพอแก่เฒ่าก็ตาย อยู่อย่างนั้นแหละ

ท่านจึงว่าโลกนี้ชื่อว่าโลกเกิดตาย ท่านจึงแสวงหาโลกที่ไม่เกิด ท่านจึงค้นหาอยู่ในตัวท่าน ถ้าหมดความเกิดแล้ว ความตายก็ไม่มี มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ในใจ ทุกสิ่งทุกอย่างลงอยู่ในนั้นหมด ท่านจึงทำลายใจตัวนั้นแหละ นั้นแหละเป็นพลังเขาสร้างภพ สร้างชาติ ท่านเรียกว่าพลังจิตท่านจึงต้องทำลายตัวนั้น อวิชชามันอยู่ที่นี่แหละ มันเป็นโรงงานใหญ่ พระพุทธเจ้าทำลายเรียบหมด บัดนี้มันสร้างอะไรไม่ได้อีกแล้ว

ท่านจึงว่า ตัณหาจะมาสร้างร่างกายให้ตถาคตอีกไม่ได้แล้ว เพราะช่อฟ้าเราตถาคตได้ทำลายท่านไปหมดแล้ว บัดนี้จิตของเราตถาคตปราศจากสังขารเข้าสู่พระนิพพานแล้ว บัดนี้เราได้ยินพระพุทธเจ้าประกาศท่านในบารมีเก่าที่เราได้มา ท่านจึงให้เราต่อเติมเพิ่มบารมีของรา ได้เป็นมนุษย์ อย่างเต็มภูมิแล้ว บัดนี้อย่าให้ภพชาติของเราเปลี่ยนแปลงหายไปเป็นภพชาติที่ต่ำทราม ท่านจึงให้สร้างบารมีของเรา ต่อเติมเสริมภพชาติของเรา อย่างเต็มภูมิ จงให้มีสติ ให้มีสัมปชัญญะ ให้รู้ตัวเสมอ สิ่งที่ไม่ดีท่านจึงไม่ให้เอา เพราะนั้นเป็นสิ่งที่ทำลายภพชาติเรา ถ้าเราไปหลงไปยึดเป็นชาติที่ต่ำทราม เป็นสัตว์ เป็นหมา เป็นควาย ท่านว่ายากที่จะได้กลับมา เพราะสัตว์เหล่านี้เข้าไม่รู้จักดี ชั่วอะไร เขาจะอยู่อย่างนั้นแหละ เขาไม่รู้เราเขาเกิดมาเพราะอะไร เป็นกรรมของเขา ท่านจึงว่าถ้าทำดี เรียกว่ากุศลกรรม ถ้าทำชั่วเรียกอกุศลกรรม กรรมเรานี้แหละจะพาเราไป

ฉะนั้นท่านจึงให้รักษา กาย วาจา ใจ ของเราไว้ อย่าไปคิดเรื่องนั้น คิดเรื่องนี้มา อย่างไปหยิบเรื่องนั้นเรื่องนี้มาพูด มาคิดขึ้น อันนั้นเป็นบาปเป็นกรรม กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม มันอยู่ตรงนี้ ให้เราค้นหาอยู่ในตัวของเรานี่เราจะเห็นหมด เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงไม่ให้ไปหาที่อื่น ไปดูนั้นดูนี่ ที่นั่นที่นี่ท่านไม่ไป เมื่อท่านรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว ท่านจึงแสดงธรรมให้เห็น เป็นธรรมชาติ ของที่มีอยู่แต่ท่านฝังไว้ลึกลับ เหมือนกับพริก มะเขือ มะละกอนั่นแหละ ลูกของมันผลของมันอยู่ที่ไหน ถึงม้าเราจะไปแซะลำต้นมันไม่เห็น มันนำลูกนำผลมาจากไหน มาให้เราได้อยากได้กิน เราก็เห็นเต็มตา รู้เต็มใจอยู่ มันไม่ได้ไปขอที่อื่น หรือไปแย่งมาจากที่อื่นมาเป็นหนี้เป็นสิน มาเป็นโทษเป็นภัย เขาสร้างตัวของเขาให้สมบูรณ์อยู่อย่างนั้น ธรรมชาติเขาแสดงไว้ให้เรารู้ให้เราเห็นอยู่ เราก็น้อมตัวนั้นมาสู่ตัวของเรา ทำไมเราจะไม่เห็น ต้องเห็น ถ้าเราทำจริง เหมือนพริก มะละกอ เขาแสดงให้เห็นผลเขาอยู่ อันนี้เราทำจริงเราก็จะเห็นผลของเราแน่นอน ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องไปถามใคร เราอย่าไปคิดว่าคุณงามความดี หรืออำนาจวาสนามันอยู่ที่อื่น มันอยู่ในตัวของเรานี่

เมื่อเราทำความดีไว้เพียงพอแล้ว พอจิตของเรามันรู้ทางจะไปเอง พอเราหมดจากภพนี้ ชาตินี้มันไปแล้ว มันไปที่มันสร้างไว้แหละ สร้างดีไว้ก็ไปทางดี ไม่ได้ไปทางชั่ว ท่านเทียบเป็นโรงศีล โรงธรรม อันนี้เข้าที่หนึ่งมันไปช่องนี้ เข้าที่สองมันไปช่องนี้ เข้าที่สามมันไปช่องนี้ เข้าที่สามมันไปเป็นสัตว์ เข้าที่สองไปเป็นมนุษย์ เป็นคนดีบ้างชั่วบ้าง เข้าที่หนึ่งเป็นคนดี ราคาก็ต่างกันตามคุณค่า ไม่มีใครไปแยกเขา เขามาถึงนั้นเขาไปเอง วัฏฏะมันหมุนไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงให้เราภาวนา ให้จิตของเราสงบลง เมื่อจิตของเราสงบมันจะรู้เรื่อง เช่น เสียงนี้ หรือความเกิดขึ้น เป็นความอยากดี ความไม่อยากดี มันเกิดขึ้นจากตัวนี้ ถ้าไม่มีตัวนี้มันจะไม่เกิด เพราะฉะนั้นร่างกายของเราทุกส่วนเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ นี่ให้เราเห็นให้เรารู้ เราอย่างไปยึดว่าเป็นของดี ตัวนี้มันทำลายเรา ปกปิดเราทุกสิ่งทุกอย่างแหละมันไม่ให้เรารู้ อันนั้นไปขนมาให้มัน เราไปขนมาให้มัน แล้วมันก็ไม่รักไม่ชอบกับเรา มันยิ่งหาความเจ็บ ความแก่ ความชรา ความตาย มาใส่เราอยู่อย่างนั้นแหละ

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงว่าอันนี้แหละเป็นตัวข้าศึก มันทำลายเรา ท่านว่าบัดนี้ให้จิตของเรามันรู้ให้จิตของเรามันปล่อย ไม่มีอะไรจะบอกได้ ถ้าเราไม่ดัดไม่แปลงของมัน มันก็จะเอาเราอยู่อย่างนั้นแหละ เพราะฉะนั้นเกิดมาแล้ว ท่านจึงว่าเราเกิดมาเอาของเก่า มาเอาความโลภ มาเอาความหลง มาอยาก มากิน มาเฒ่า มาแก่ มาตาย ทรัพย์สมบัติที่เราหามาได้นี้มันเป็นของประจำโลก มันมาเป็นเรา เป็นของเราเฉย ๆ นี่ตัวสมมติ กายตัวนี้มันเป็นกายที่สมมติ ท่านเรียกว่า อวิชชาสมมติ กิเลสสมมติ ขันธ์สมมติ นี้ให้เราพิจารณาให้มันรู้เราจึงปล่อยตัวนี้ได้ ถ้าเรายังปล่อยไม่เป็น

บัดนี้ถ้าเราได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์ แนะนำสั่งสอน ให้เราทิ้งมันให้หมด เราอย่าไปเชื่อมัน บัดนี้เราก็จะรู้ขึ้นเอง ให้เราปล่อยออกจริง ๆ ถ้าเราศรัทธาให้เราเชื่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ฟังลึกอยู่ในตัวของเรา เรารู้เราได้ยินเราอย่าไปเชื่อ เราเห็นเราก็อย่าไปเชื่อ ใจของเราเกิดขึ้นมาเราก็อย่าไปเชื่อมัน เพราะตัวนี้มันเป็นตัว นิจจัง เป็นตัวสังขาร มันตายให้เราเห็นอยู่อย่างนั้น เราจะไปเชื่อมันได้ยังไง คนมันดีคนมันชั่วเราก็อย่าไปเชื่อ เขาสมมติ เขาชอบเขาก็สมมติว่าดี เขาไม่ชอบก็สมมติว่าไม่ดี อยู่อย่างนั้นแหละ นั้นมันทำให้เราลุ่มหลงอยู่ เราจึงหลงดีหลงชั่ว ติดดีติดชั่วอยู่ ถ้าดีมีอยู่ที่ไหนชั่วก็มีอยู่ที่นั้นแหละ บัดนี้เกิดมีอยู่ที่ไหน ตายก็มีอยู่ที่นั่นแหละ บัดนี้มันเกิดมันดับ มันเกิดมันดับ เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่าทั้งหมดในตัวของเรามันเป็นสมุทัย เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ บัดนี้มันเกิดความแก่ขึ้นมามันก็เกิดความทุกข์ เมื่อตามันเห็น มันก็เกิดความอยากขึ้นมา มันก็เกิดความทุกข์ หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายสัมผัสก็เช่นเดียวกัน ตัวนี้เป็นตัวของสมุทัย บัดนี้ท่านจึงให้เดินจิตของเรา เดินสติเดินปัญญาของเรา ตัวนี้เพราะไม่มีสิ่งไหนดี มีแต่ของตายทั้งหมด เมื่อตายแล้วมันก็เน่ามันก็เหมือนอยู่อย่างนั้นแหละ มันจะดีได้อย่างไร เราจะว่าเป็นของดีได้อย่างไร

บัดนี้เราถามตัวของเราเองว่าเราชอบของเน่าของเหม็นไหม เราก็ไม่ชอบ ถ้าเราชอบของเน่าของเหม็น เราเป็นอะไรเราจึงชอบสิ่งเหล่านั้น เราเป็นตัวบุ้ง เป็นตัวหนอนหรือ เราเห็นแต่ตัวหนอน เห็นแต่ตัวบุ้ง มันขอบของเน่าของเหม็น ถ้าเราเป็นผู้ที่ดีจริง ๆ เราอย่ามายึดและอย่ามาถือ อันนี้คือความคิดของเรา เมื่อจิตของเรามันได้รับธรรมคำสั่งสอนแล้ว มันก็ค่อย ๆ ถอยออกมันไม่ยึด ถ้าไม่เชื่อ พอเราสิ้นลมหายใจ หรือตายไปไม่ถึง 10 นาที ลองสูดกลิ่นดู คนตาย หรือ สัตว์ ตายก็เหมือนกัน มันก็จะเกิดการพองขึ้นมา พระพุทธเจ้าท่านจึงว่า เราไม่ใช่ตัวบุ้ง ไม่ใช่ ตัวหนอน เราจะไปชอบของเน่าของตายอย่างนั้นหรือ นี่ท่านสอน บัดนี้ให้เรารู้ตัวอยู่ทุกเวลา เว้นไว้แต่เรานอนหลับ ให้เรารู้สติอยู่ตลอดเวลา พอตื่นขึ้นมาเราก็จะเห็น

 

ธรรมะจากหลวงปู่สอ
– พระธรรมเทศนา 17 พฤศจิกายน 2546 [15 มิถุนายน 2552 18:33 น.] – เทศน์ เมื่อ 5-12 กันยายน 2546 [15 มิถุนายน 2552 18:33 น.] – พระธรรมเทศนาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2546 [15 มิถุนายน 2552 18:33 น.] – ธรรมะจากหลวงปู่สอ [15 มิถุนายน 2552 18:33 น.] ดูทั้งหมด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *